ข้อบังคับสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.๒๕๖๓

หมวด ๑ ข้อความทั่วไป

ข้อ ๑. สมาคมนี้ให้มีชื่อว่า “สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้อักษรย่อว่า “สพ.ส.ท.” เขียนตามภาษาอังกฤษว่า “ The Thai Veterinary Medical Association Under  Royal Patronage” ใช้อักษรย่อว่า “T.V.M.A.”

ข้อ ๒. ข้อบังคับนี้ เรียกว่า “ข้อบังคับสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” พุทธศักราช ๒๕๖๓

ข้อ ๓. ให้ยกเลิกข้อบังคับของสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.๒๕๑๘ และพ.ศ.๒๕๒๔ และข้อบังคับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๒๑ , พ.ศ.๒๕๔๑ ,พ.ศ.๒๕๔๔ และพ.ศ.๒๕๖๐ ตลอดจนบรรดาระเบียบและข้อบังคับต่างที่ ทั้งหมดที่ใช้บังคับอยู่ก่อนข้อบังคับนี้

ข้อ ๔. ข้อบังคับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนข้อบังคับนี้เป็นต้นไป

ข้อ ๕. เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปงูสีน้ำตาลเข้ม ๒ ตัว พันคธาสีแดง มีปีกสีฟ้า อักษร “ส” สีฟ้าอยู่กลางเครื่องหมายนี้ และอยู่ภายในวงกลม ซึ่งเบื้องบนมีข้อความว่า “สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย” และเบื้องล่างมีข้อความว่า “ในพระบรมราชูปถัมภ์” เครื่องหมายของสมาคมใช้เป็นตราประทับเอกสาร และใช้ในกิจการของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๖. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่เลขที่ ๖๙/๒๖ ซอยปทุมวันรีสอร์ท ถนนพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐


หมวด ๒ วัตถุประสงค์

ข้อ ๗. วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังนี้
๑.ส่งเสริมสามัคคีธรรมและจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์
๒.ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น
๓.ส่งเสริมวิชาชีพสัตวแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
๔.เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ของมวลสมาชิกและสังคม
๕.ส่งเสริมการสงเคราะห์สัตว์
๖.ส่งเสริมการกีฬาและการบันเทิง
๗.ช่วยเหลืองานสาธารณกุศลในโอกาสอันสมควร
๘.ให้ความร่วมมือและประสานงานกับสมาคมอื่น ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง


หมวด ๓ สมาชิก

ข้อ ๘. สมาชิกสัตวแพทยสมาคมฯ มี ๔ ประเภท คือ
๑.สมาชิกสามัญ แบ่งเป็น
ก) สมาชิกสามัญรายปี
ข) สมาชิกสามัญตลอดชีพ
๒.สมาชิกวิสามัญ
๓.สมาชิกสมทบ
๔.สมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ ๙. สมาชิกแต่ละประเภทมีคุณสมบัติ ดังนี้
๑.สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้ที่สำเร็จวิชาชีพสัตวแพทยศาสตร์ จากสถาบันที่ราชการรับรอง
๒.สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ นิสิต หรือนักศึกษา
๓.สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจาก ๑ และ ๒ โดยเป็นผู้ที่สนใจ หรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาชีพสัตวแพทย์
๔.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหารยกย่อง และเห็นชอบเป็นเอกฉันท์เชิญเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกของสัตวแพทยสมาคมฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๑.ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วในวันที่ยื่นขอสมัครเป็นสมาชิก
๒.ต้องเป็นผู้มีความประพฤติอันดีงาม
๓.ไม่เคยต้องพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่คดีความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
๔.ไม่เป็นบุคคลที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย
๕.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


หมวด ๔ การเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๑. ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องทำคำขอสมัครตามแบบที่กำหนดไว้ยื่นต่อเลขาธิการ หรือนายทะเบียนของสมาคม คำขอสมัครเช่นว่านี้ ต้องมีสมาชิกสามัญตลอดชีพรับรอง ๑ คน “เว้นแต่สมาชิกสมทบ” ต้องมีสมาชิกสามัญตลอดชีพรับรองไม่น้อยกว่า ๒ คน

ข้อ ๑๒. เมื่อได้รับคำขอสมัครแล้วให้นายทะเบียนของสมาคมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในการประชุมครั้งถัดไป หลังจากวันที่ได้รับคำขอสมัครนั้น เพื่อพิจารณาการรับเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๓. เมื่อคณะกรรมการบริหารลงมติรับหรือไม่รับผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้ว ให้นายทะเบียนของสมาคมแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้สมัครทราบ สมาชิกภาพของผู้สมัครจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหาร ลงมติรับเข้าเป็นสมาชิก และผู้สมัครได้ชำระค่าสมัครและค่าบำรุงตามข้อบังคับเรียบร้อยแล้ว

ข้อ ๑๔.ในการพิจารณาเชิญบุคคลใดเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ต้องเป็นมติเอกฉันท์ขององค์ประชุมคณะกรรมการบริหาร


หมวด ๕ ค่าสมัครและค่าบำรุง

ข้อ ๑๕ ค่าสมัครเป็นสมาชิก และค่าบำรุง มีอัตราดังนี้

๑.สมาชิกสามัญรายปี
ค่าสมัครเป็นสมาชิก ๑๐๐ บาท
ค่าบำรุงปีละ ๒๐๐ บาท

๒.สมาชิกสามัญตลอดชีพ
ค่าสมัครเป็นสมาชิก ๑๐๐ บาท
ค่าบำรุงตลอดชีพ ๑,๐๐๐ บาท

๓.สมาชิกวิสามัญ
ค่าสมัครเป็นสมาชิก ๑๐๐ บาท
ค่าบำรุงปีละ ๒๐๐ บาท

๔.สมาชิกสมทบ
ค่าสมัครเป็นสมาชิก ๑๐๐ บาท
ค่าบำรุงตลอดชีพ ๒,๐๐๐ บาท

ข้อ ๑๖. ค่าสมัครและค่าบำรุงตามข้อ ๑๕ ให้ชำระในวันที่ยื่นคำขอสมัครต่อนายทะเบียนของสมาคม ส่วนค่าบำรุงตลอดชีพให้ผ่อนชำระได้ไม่เกิน ๑๐ เดือน โดยต้องชำระครั้งแรกไม่ต่ำกว่าค่าบำรุงของสมาชิกสามัญรายปี สำหรับสมาชิกสามัญรายปีที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกัน ๒๐ ปี ให้ถือว่าเป็นสมาชิกสามัญตลอดชีพ


หมวด ๖ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ ๑๗. สมาชิกมีสิทธิ ดังนี้
๑.สมาชิกสามัญมีสิทธิได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมตามที่ตราไว้ในข้อบังคับและมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่
๒.สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์มีสิทธิ์เข้าฟังการประชุมใหญ่ และเสนอความเห็นแก่ที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง และไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร
๓.สมาชิกมีสิทธิที่จะใช้สถานที่ของสมาคมและรับประโยชน์ที่สมาคมจัดขึ้นเพื่อสมาชิกตามเงื่อนไขและระเบียบของสมาคมฯ
๔.สมาชิกมีสิทธินำบุคคลภายนอกเข้ามาภายในสมาคมและต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ตนนำบุคคลภายนอกเข้ามานั้นทุกประการ
๕.สมาชิกมีสิทธิยื่นหนังสือแสดงความเห็นซึ่งเกี่ยวกับกิจการของสมาคม ส่งไปยังคณะกรรมการบริหารหรือมีสิทธิเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คนของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดเพื่อให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ
๖.สมาชิกมีสิทธิขอดูหลักฐานและไต่ถามกิจการของสมาคมได้ในเวลาอันควร หรือเมื่อมีการประชุมใหญ่เพื่อแถลงกิจการของสมาคมที่ได้กระทำผ่านมาแล้ว
๗.สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมาของสมาคม และจะได้รับบัตรประจำตัว ซึ่งออกให้โดยสมาคมตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารจะได้กำหนด

ข้อ ๑๘. สมาชิกมีหน้าที่ดังนี้
๑.ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคมทุกประการ
๒.ปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่และคณะกรรมการบริหาร
๓.สมาชิกผู้ใดย้ายที่อยู่ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เลื่อนยศ ตำแหน่งหน้าที่ หรือต้องการให้แก้ไขข้อความๆ ที่ได้แจ้งไว้กับสมาคมก่อนแล้วให้สมาชิกแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนของสมาคมทราบในเวลาอันสมควร
๔.รักษาคุณธรรม ความดีงาม และไม่ประพฤติเสื่อมเสียด้วยประการทั้งปวง
๕.ส่งเสริมและร่วมมือในกิจการของสมาคม
๖.ชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีหรือตลอดชีพตามข้อ ๑๕


หมวด ๗ การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ ๑๙ สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อ
๑.ตาย
๒.ลาออก
๓.ขาดการชำระค่าบำรุงเป็นเวลา ๑ ปี และนายทะเบียนมีหนังสือลงทะเบียนแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นชำระภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ถือว่าได้รับแจ้ง
๔.กระทำการใดๆ อันอาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสมาคมหรือวิชาชีพสัตวแพทย์ หรือกระทำการที่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสัตวแพทย์ และคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ถอนชื่อออกจากทะเบียน โดยวิธีลงคะแนนลับ มติให้ถอนชื่ออกจากทะเบียนต้องไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการบริหาร
๕.ขาดคุณสมบัติตามหมวด ๓ ข้อ ๑๐

ข้อ ๒๐. ให้นายทะเบียนของสมาคมถอนชื่อสมาชิกผู้ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อ ๑๙ ออกเสียจากทะเบียน และประกาศชื่อสมาชิกผู้นั้นไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และแจ้งให้สมาชิกทราบทั่วกัน


หมวด ๘ คณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๒๑. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะกรรมการบริหารสัตวแพทยสมาคมฯประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกิน ๒๕ คน แต่ไม่น้อยกว่า ๑๕ คน ในตำแหน่งดังต่อไปนี้
นายกสมาคม จำนวน ๑ คน
อุปนายก จำนวน ๑-๒ คน
เลขาธิการ จำนวน ๑ คน
เหรัญญิก จำนวน ๑ คน
นายทะเบียน จำนวน ๑ คน
สาราณียกร จำนวน ๑ คน
ประธานจัดการประชุมวิชาการ จำนวน ๑ คน
วิเทศสัมพันธ์ จำนวน ๑ คน
เผยแพร่วิชาการ จำนวน ๑ คน
ประชาสัมพันธ์ จำนวน ๑ คน
ปฏิคม จำนวน ๑ คน
กรรมการกลางสามัญ จำนวน ๓-๕ คน

ข้อ ๒๒. นายกสมาคมจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

ข้อ ๒๓. นายกสมาคมและกรรมการกลางสามัญ ๓-๕ คน ให้เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ และต้องเลือกตั้งจากในประชุมใหญ่ การเลือกตั้งให้กระทำโดยลงคะแนนลับ กำหนดให้มีขั้นตอนปฎิบัติดังนี้
๑. นายกสัตวแพทยสมาคมฯ แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งนายกและกรรมการกลางสามัญ ในแต่ละครั้ง
๒. สัตวแพทยสมาคมฯ มีหนังสือเชิญชวนให้สมาชิกเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสัตวแพทยสมาคมฯและกรรมการกลางสามัญ กำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง
๓. คณะกรรมการการเลือกตั้งฯรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกสัตวแพทยสมาคมฯและกรรมการกลางสามัญ และพิจารณาทาบทามผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้แจ้งความจำนงและส่งประวัติพร้อมแสดงความตั้งใจที่จะบริหารกิจการสัตวแพทยสมาคมฯ เพื่อเผยแพร่ให้สมาชิกทราบ
๔. คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ แจ้งรายชื่อพร้อมประวัติของผู้ที่ตอบรับเข้ารับการเลือกตั้งไปยังสมาชิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วันก่อนวันเลือกตั้ง
๕. สมาชิกลงทะเบียนและรับบัตรเลือกตั้งในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี และหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในที่ที่กำหนด ภายในเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งฯกำหนด
๖. รับสมัครสมาชิกจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เป็นกรรมการอาสาสมัครในการนับคะแนนจำนวน ๖ คน
๗. คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายกสัตวแพทยสมาคมฯ และกรรมการกลางสามัญ
๘. การนับคะแนนให้เริ่มนับหลังจากเวลาหย่อนบัตรสิ้นสุดลง และแจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป

ข้อ ๒๔. นายกสมาคม จะแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริหารเว้นแต่กรรมการกลางสามัญ โดยต้องแจ้งให้สมาชิกทราบภายใน ๓๐ วัน และต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ นายกสมาคมต้องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อ ๒๑ ภายใน ๖๐ วัน นับจากวันที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม

ข้อ ๒๕. นายกสมาคมอาจเชิญบุคคลใดๆ เข้าช่วยเหลือกิจการของสมาคม หรือเป็นที่ปรึกษาได้

ข้อ ๒๖. นายกสมาคมจะอยู่ในตำแหน่งได้สมัยละ ๓ ปี และไม่เกิน ๒ สมัยติดต่อกัน วาระดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไปที่มีการเลือกตั้ง

ข้อ ๒๗. กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
ตาย
ลาออก
ขาดจากการเป็นสมาชิกสามัญ
ที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจโดยการลงคะแนนลับ มติไม่ไว้วางใจ ต้องไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่ประชุมขณะลงมติ
นายกสมาคมลาออก หรือออก ตามวาระตามข้อ ๒๖
ในกรณีนายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ถ้าวาระดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมที่พ้นจากตำแหน่งเหลืออยู่ไม่เกิน ๑๘๐ วัน ให้อุปนายกทำหน้าที่แทนต่อไปจนครบวาระ ถ้าวาระดำรงตำแหน่งเหลืออยู่เกิน ๑๘๐ วัน ให้เลือกตั้งนายกสมาคมเพื่อแต่งตั้งกรรมการบริหารใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่นายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งและให้มีวาระดำรงตำแหน่งเท่าวาระที่เหลือของนายกสมาคมที่พ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการบริหารที่พ้นจากตำแหน่งคงอยู่รักษาการณ์ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าคณะกรรมการบริหารใหม่เข้ารับหน้าที่ ในกรณีกรรมการกลางสามัญ พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการกลางสามัญ ซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไป และยังไม่ได้เป็นกรรมการกลางสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน ถ้าไม่สามารถหาบุคคลซึ่งมีคะแนนในลำดับถัดไปได้ ก็ให้ตำแหน่งกรรมการกลางสามัญว่างไว้


หมวด ๙ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๒๘. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
บริหารกิจการของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับสัตวแพทยสมาคมฯ ตลอดจนการออกระเบียบข้อบังคับต่างๆ และดำรงจรรยาบรรณของวิชาชีพ
คณะกรรมการบริหารอาจตั้งสาขาสมาคม หรืออนุกรรมการ หรือผู้แทนของสมาคม เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงเกียรติคุณเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสมาคมตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร การเป็นกรรมการที่ปรึกษาย่อมสิ้นสุดลง เมื่อคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง กรรมการที่ปรึกษามีสิทธิจะเสนอความคิดเห็นและร่วมอภิปรายในการประชุมของคณะกรรมการบริหาร แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจสอบบัญชี และรับรองงบดุลประจำปีของสมาคมผู้สอบบัญชีควรจะได้รับสินจ้างเท่าใด ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหาร ในกรณีที่ตำแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลงระหว่างปีให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งผู้สอบบัญชีใหม่ ผู้สอบบัญชีจะเป็นสมาชิกของสมาคมก็ได้ แต่ต้องมิใช่กรรมการบริหารหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการของสมาคม นอกจากการเป็นสมาชิก
มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเงินที่เกินอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๑ ล้านบาท ถ้าจำนวนเงินเกิน ๑ ล้านบาท ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่
คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ต้องแสดงฐานะการเงินของสมาคมที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ทุกรอบระยะเวลาบัญชี ให้ถือวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของสมาคม

ข้อ ๒๙. นายกสมาคม มีอำนาจและหน้าที่
แต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริหาร ตามหมวด ๘ ข้อ ๒๑
เป็นประธานในการบริหารกิจการของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
เป็นประธานในที่ประชุมตามหมวด ๑๐ ข้อ ๔๖ และข้อ ๔๗
มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคม นอกเหนือจากกิจการประจำได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และรวมกันแล้วต้องไม่เกินเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ทั้งนี้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร แต่ต้องแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบทุกครั้งเมื่อมีการประชุมหลังจากการอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าว ถ้าสั่งจ่ายเงินเกินจำนวนที่ระบุไว้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารเสียก่อน
มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานในกิจการของสมาคมเฉพาะเรื่อง
แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายสำหรับตรวจสอบบัญชีและรับรองงบดุลประจำปีของสมาคมตามมติของคณะกรรมการบริหารดังกล่าวแล้วในข้อ ๒๘.๔
เป็นตัวแทนของสมาคมในกิจการต่างๆ
มีอำนาจมอบหมายให้อุปนายก หรือกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และปกครองบังคับบัญชา รับบรรจุ แต่งตั้ง ถอด ถอน เลื่อนเงินเดือน และลงโทษพนักงานของสมาคมได้ทุกตำแหน่ง

ข้อ ๓๐. อุปนายก มีหน้าที่
ช่วยเหลืองานตามที่นายกสมาคมได้มอบหมาย
กรณีนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยกรณีใดก็ตาม อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทนได้ทุกกรณี

ข้อ ๓๑. เลขาธิการ มีอำนาจและหน้าที่
นัดประชุมกรรมการบริหาร และการประชุมใหญ่ของสมาคม โดยแจ้งระเบียบวาระในการประชุมล่วงหน้าและเป็นเลขานุการในที่ประชุม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประชุม
ควบคุมดูแลและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนข้อบังคับของสมาคม
รับและโต้ตอบหนังสือของสมาคม
เก็บรักษารายงานและเอกสารต่างๆ ของสมาคม ติดต่อกับมวลสมาชิก และบุคคล 636 ภายนอกในกิจการของสมาคม
ลงชื่อในเอกสารรับจ่ายเงินเฉพาะกิจการของสมาคมและการใช้จ่ายประจำวันตามปกติของสมาคมและการใช้จ่ายประจำวันตามปกติของสมาคม
สั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) ถ้าสั่งจ่ายเงินเกินจำนวนที่ระบุไว้จะต้องได้รับอนุมัติจากนายกสมาคม
หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารนายกสมาคมหรืออุปนายกได้มอบหมายให้ปฏิบัติเป็นครั้งคราว
เสนอรายงานกิจการของสมาคม ต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี

ข้อ ๓๒. เหรัญญิก มีหน้าที่
รับผิดชอบการเงินและบัญชีการเงินของสมาคม ทำงบดุลประจำปีเสนอคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมใหญ่
รับจ่ายเงินของสมาคม จัดทำและเก็บรักษาบัญชีพร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานแสดง การรับและจ่ายเงินทำงบแสดงฐานะการเงินทุกเดือนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ในการรับเงินทุกประเภทต้องออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมไว้เป็นหลักฐานเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร ในการจ่ายเงินของสมาคมทุกรายการต้องมีใบสำคัญซึ่งแสดงรายการจำนวนเงิน และต้องได้รับอนุมัติจากนายกสมาคม หรือเลขาธิการสมาคม
เก็บรักษาเงินสดไว้ได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ส่วนที่เกินให้นำฝากธนาคารที่คณะกรรมการบริหารกำหนดในนามของสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์
ติดต่อทวงถามสมาชิกที่ค้างชำระค่าบำรุงและทวงถามให้มีการชำระหนี้จากลูกหนี้ของสมาคม

ข้อ ๓๓. นายทะเบียน มีหน้าที่
จัดทำทะเบียนสมาชิกทุกประเภท
จัดการลงทะเบียนรับสมาชิกเข้าในสมาคม เมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม และถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนของสมาคม ตามที่ระบุไว้ในหมวด ๗ ข้อ ๒๐ และให้ประกาศรายชื่อสมาชิกทั้งสองกรณีให้สมาชิกทราบทั่วกัน
ตรวจสอบสภาพการเป็นสมาชิก เมื่อสมาชิกค้าชำระค่าบำรุงให้แจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชำระค่าบำรุง
จัดทำบัตรประจำตัวของสมาชิก ซึ่งออกให้โดยสมาคมตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารจะได้กำหนด

ข้อ ๓๔. สาราณียกร มีหน้าที่
จัดทำวารสารของสัตวแพทยสมาคมฯ และทำหน้าที่บรรณาธิการสัตวแพทยสารโดยตำแหน่ง
จัดทำหนังสืออื่นใดนอกเหนือไปจากวารสารของสมาคม ตามที่คณะกรรมการบริหารได้มอบหมาย
ติดต่อประสานงานกับเหรัญญิก และทำบัญชี เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินในการทำหนังสือของสมาคมตามข้อ ๓๔.๑ และ ๒

ข้อ ๓๕. ประธานจัดการประชุมวิชาการ มีหน้าที่จัดการประชุมทางวิชาการประจำปีของสมาคม

ข้อ ๓๖. วิเทศสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ

ข้อ ๓๗. กรรมการเผยแพร่วิชาการ มีหน้าที่

จัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการตามโอกาสอันเหมาะสม
เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการสัตวแพทย์ทางสื่อมวลชน
จัดทำแหล่งข้อมูลทางวิชาการ บริการแก่สังคม
ประชาสัมพันธ์งานวิชาการระหว่างสมาคมกับมวลสมาชิก

ข้อ ๓๘. ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่
ประชาสัมพันธ์งานประชุมสัมมนาทางวิชาการ
เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการสัตวแพทย์ทางสื่อมวลชน
ช่วยเหลืองานประชาสัมพันธ์ของสมาคมตามที่กรรมการมอบหมาย
ประชาสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของสมาคมกับมวลสมาชิก

ข้อ ๓๙. ปฏิคม มีหน้าที่
ประสานงานติดต่อต้อนรับและรับรอบแขกของสมาคม
เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับมวลสมาชิก และบุคคลผู้เกี่ยวข้องในกิจการของสมาคม
จัดเตรียมสถานที่สำหรับดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
ดูแลรักษาสถานที่และทรัพย์สินของสมาคม ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ
รับผิดชอบดูแลงานด้านสมาชิกสัมพันธ์ การกีฬา และบันเทิง

ข้อ ๔๐. กรรมการกลางสามัญ มีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการของสมาคมตามที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และให้กรรมการกลางสามัญเป็นตัวแทนของมวลสมาชิกในคณะกรรมการบริหารสัตวแพทยสมาคมฯ


หมวด ๑๐ การประชุม

ข้อ ๔๑. ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคมจะต้องมีการการกึ่งหนึ่ง จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้มีการประชุมอย่างน้อยสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง

ข้อ ๔๒. การประชุมใหญ่ แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
การประชุมใหญ่สามัญได้แก่การประชุมใหญ่ปีละครั้ง ซึ่งต้องประชุมภายในไม่เกินวันที่ ๓๑ ของเดือนธันวาคม
การประชุมใหญ่วิสามัญ ได้แก่การประชุมเมื่อนายกสมาคมเรียกประชุมสมาชิกตามที่เห็นสมควร หรือเมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดเข้าชื่อกันมีหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อนายกสมาคม ผ่านเลขาธิการ ขอให้มีการประชุม

ข้อ ๔๓. การกำหนดนัดและแจ้งระเบียบการประชุมใหญ่ให้เลขาธิการส่งหนังสือให้สมาชิก ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

ข้อ ๔๔. ในการประชุมใหญ่ทุกคราว ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ถือว่าเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมครั้งแรกมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุมให้นัดประชุมใหม่ภายในเวลา ๓๐ วันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้แม้ว่าจะมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ถึง ๑๐๐ คนของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม

ข้อ ๔๕. ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
เลือกตั้งนายกสมาคม และกรรมการกลางสามัญ ๓-๕ คน
ลงมติไม่ไว้วางใจกรรมการบริหารสมาคม เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และมติดังกล่าวต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่อยู่ประชุมขณะลงมติ และให้ลงมติโดยการลงคะแนนลับ
รับทราบงบดุลประจำปี
ให้คำปรึกษากิจการอื่นๆ ทั่วไปของสมาคม

ข้อ ๔๖. การลงมติในข้อปรึกษาใดๆ ให้ถือเอาเสียงข้างมากของสมาชิกที่อยู่ประชุมขณะลงมติ นอกจากกรณีที่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น สมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนได้เพียง ๑ เสียง และถ้าคะแนนเสียงในที่ประชุมเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดให้ทำรายงานการประชุมใหญ่ และรับรองความถูกต้องแล้วโดยนายนกสมาคม เลขาธิการและเหรัญญิกส่งให้สมาชิกทราบภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ประชุมใหญ่

ข้อ ๔๗. ให้มีการประชุมทางวิชาการประจำปี


หมวด ๑๑ การแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ ๔๘. การแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมจะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และต้องมีคะแนนเสียงในการลงมติไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่อยู่ประชุมขณะลงมติ

ข้อ ๔๙. เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมข้อหนึ่งข้อใด แล้วให้เลขาธิการนำไปจดทะเบียนภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่ประชุมลงมติ

ข้อ ๕๐. ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนข้อบังคับของสมาคมที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อบังคับตามข้อ
๔๙ ให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียน เพื่อพิจารณาข้อบังคับนั้นอีกครั้งหนึ่ง ถ้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญยืนยันมติเดิม ให้นายกสมาคมอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียน


หมวด ๑๒ การเลิกสมาคมและการชำระบัญชี

ข้อ ๕๑. สมาคมล้มเลิกเมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติให้เลิก และมติดังกล่าวต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๔ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่อยู่ประชุมขณะลงมติ

ข้อ ๕๒. การชำระบัญชี ภายหลังจากสมาคมล้มเลิกแล้ว หากมีทรัพย์สินเหลือจากการชำระบัญชีเท่าใดให้ตกเป็นสิทธิบำรุงการศึกษาในสถาบันการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ ระดับปริญญา และโรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก โดยให้ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ให้ผู้ชำระบัญชีจัดการชำระบัญชี และโอนมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน นับแต่วันเลิกสมาคม